Weekend Studio
      

คอร์สติวสถาปัตย์

 

คอร์สติวสถาปัตย์ เป็นคอร์สที่ต่อจากคอร์สพื้นฐานวาดเส้น (Drawing) โดยจะสอนพื้นฐานสถาปัตย์ เพื่อนำไปใช้ในการยื่นคะแนนเพื่อสอบเข้าสถาปัตย์ โดยประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก 1.ติวสอบวาดภาพ (CU-TAD / Skill test), 2.ทำ Port สถาปัตย์, 3.เขียน Personal Statement และ 4.ติวสัมภาษณ์ (ลิงค์ไปแต่ละส่วน) ซึ่งในการติวสอบเข้าสถาปัตย์ทั้งหมดนี้อาจจะใช้เวลาประมาณ 6 – 9 เดือน โดยน้องสามารถอ่านรายละเอียดของแต่ละส่วนได้ดังนี้

CU-TAD / SKILL TEST

ข้อสอบวาดภาพ

Portfolio

แฟ้มสะสมผลงานที่ต้องแสดงทั้งความสามารถและความเป็นตัวเรา

Personal Statement

จดหมายเขียนอธิบายว่าทำไมเราถึงอยากเข้าเรียนคณะนี้

Interview

เข้าสัมภาษณ์กับอาจารย์ของคณะ

คณะสถาปัตย์อินเตอร์ในไทยมีที่ไหนบ้าง และ เกณฑ์ในการสอบเข้าเป็นอย่างไร ?

แต่ก่อนที่น้องจะดูว่าเราต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อใช้ในการเข้าคณะสถาปัตย์ เราอยากจะขอแนะนำคณะสถาปัตย์ ภาคอินเตอร์ ที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยให้น้องๆฟังก่อน เพื่อที่น้องจะได้เข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละคณะ และจะได้เลือกได้อย่างถูกต้อง

คณะสถาปัตย์ภาคอินเตอร์ของจุฬา จะถูกแบ่งออกเป็น 2 คณะ

1. การออกแบบสถาปัตยกรรมหลักสูตรนานาชาติ – INTERNATIONAL PROGRAM IN DESIGN AND ARCHITECTURE หรือ “INDA”

 

INDA เรียนอะไรบ้าง ?

หลักๆเลย คือ INDA เรียนการออกแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ตึก อาคาร หรือ แม้แต่ภูมิสถาปัตย์ (Landscape) นอกเหนือจากนั้นทางคณะยังจะสอนน้องลึกลงไปถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถาปัตย์ และการใช้การออกแบบเหล่านั้นเพื่อสื่อสารกับผู้คน

โดยทางคณะจะมีรูปแบบสอนที่เน้นไปทางที่ให้น้องๆได้ลองทำชิ้นงานออกมาด้วยตนเอง และนำชิ้นงานนั้นมานำเสนอ แล้วอาจารย์จะเป็นคนคอมเม้นต์งานแต่ละชิ้นอย่างละเอียด ซึ่งด้วยระบบการเรียนการสอนแบบนี้ น้องๆจะมีอิสระในการเลือกวิธี หรือ โปรแกรมที่น้องถนัดในการใช้งาน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานในแต่ละชิ้นด้วยตนเอง แต่ก็ด้วยระบบการเรียนแบบนี้เช่นกันที่ทำให้น้องๆแต่ละคนต้องพยายามอย่างมากในการเรียน เพราะนอกเหนือจากงานที่ต้องส่ง และเนื้อหาที่เรียนแล้ว น้องก็ยังต้องเรียนรู้โปรแกรม วิธีการตัดโมเดล หล่อโมเดล การจัด layout งานต่างๆด้วยตนเอง

 

Requirement

นอกจากใบจบการศึกษา หรือ ใบรับรองว่าน้องกำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม.6 จากโรงเรียนแล้ว น้องจำเป็นจะต้องมีคะแนนสอบ 3 อย่าง, Portfolio 1 เล่ม และ Personal Statement เพื่อไปยื่นให้คณะประกอบการตัดสินใจในการรับน้องเข้าเรียน โดยในแต่ละปีคณะจะรับนักเรียนเป็นจำนวนประมาณ 80 คน

  1. คะแนน CU-TAD : ต้องเกิน  50 คะแนนจาก  100 โดย Weekend Studio แนะนำให้น้องสอบให้ได้ประมาณ 70 คะแนน
  2. คะแนน SAT (Math Section) ต้องเกิน 570 หรือ ถ้าน้องใช้ CU-AAT (Math Section) ต้องเกิน 550 คะแนน โดย Weekend Studio แนะนำให้น้องสอบให้ได้ประมาณ 670 คะแนนใน section นี้ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบ SAT หรือ CU-AAT ก็ตาม
  3. คะแนน SAT (Verbal Section) ต้องเกิน 450 หรือ ถ้าน้องใช้ CU-AAT (Verbal Section) ต้องเกิน 400 คะแนน โดย Weekend Studio แนะนำให้น้องสอบให้ได้ประมาณ 500 คะแนนใน section นี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบ SAT หรือ CU-AAT ก็ตาม
    หรือ ถ้า SAT หรือ CU-AAT  (Verbal Section)  ไม่ใช่ทางของน้อง น้องก็สามารถสอบ IELTS มายื่นแทนได้ โดยน้องต้องได้คะแนนเกิน 6.0 ขึ้นไป** ซึ่งหากน้องจะใช้คะแนน SAT หรือ CU-AAT ทั้ง Math และ Verbal section ในการยื่นนั้น คะแนนนั้นต้องมาจากการสอบในรอบเดียวกันเท่านั้น
  4. Portfolio ในลักษณะของหนังสือ 1 เล่มในขนาดเท่ากับกระดาษ A4 โดยที่ต้องมีความหนาไม่เกิน 1 นิ้ว
  5. Interview & Essay หลังจากที่น้องๆ ยื่นคะแนนต่างๆ และ portfolio แล้ว หากน้องผ่านเกณฑ์ของคณะ คณะจะเรียกน้องเข้าไปเพื่อทำข้อสอบวาดรูป และเขียนอธิบายสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นก็จะสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษต่อในวันเดียวกัน

โดย INDA จะมีการแบ่งคะแนนในแต่ละ part ออกมาเฉลี่ยนให้เต็ม 100% เพราะฉะนั้นยิ่งน้องได้คะแนนในแต่ละ part สูงขึ้นเท่าไหน ก็จะยิ่งมีสิทธิ์ในการสอบติดมากขึ้นเท่านั้น

 

2. การออกแบบนิเทศศิลป์หลักสูตรนานาชาติ – INTERNATIONAL PROGRAM IN COMMUNICATION DESIGN หรือ “COMMDE”

 

COMMDE เรียนอะไรบ้าง ?

COMMDE เรียนการออกแบบสื่อ เพื่อนำมาสื่อสารกับผู้คน โดย “สื่อ” เหล่านี้อาจจะออกมาในรูปแบบของ งานกราฟฟิกบนสิ่งพิมพ์ อย่างโปสเตอร์, แบนเนอร์ในอินเตอร์เน็ต, ภาพกราฟฟิก รวมไปจนถึงงานโฆษณา

โดยรูปแบบการเรียนการสอนของคณะนั้นจะค่อนข้างคล้ายกับ INDA คือ คณะจะเน้นไปในทาง experimental base หรือการให้น้องได้ไปลองทำงานแต่ละชิ้นด้วยตนเอง โดยน้องจะได้รับอิสระในการเลือกวิธีในการทำ และได้มีอิสระในการที่จะ explore ความคิดของตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานเป็นอย่างมาก โดยอาจารย์ที่สอนก็จะคอยให้คำปรึกษาระหว่างทาง และคอมเม้นต์ผลงานน้องๆหลังจากที่น้องทำเสร็จแล้ว เพื่อให้น้องได้พัฒนาผลงานตนเองต่อไปในอนาคต

Requirement

นอกจากใบจบการศึกษา หรือ ใบรับรองว่าน้องกำลังศึกษาอยู่ในชั้น ม.6 จากโรงเรียนแล้ว น้องจะต้องมีคะแนน 2 ส่วน, ไฟล์ผลงาน 12 หน้า, Personal Statement และ Recommendation letter จากอาจารย์ เพื่อไปยื่นให้คณะประกอบการตัดสินใจในการรับน้องเข้าเรียน โดยในแต่ละปีคณะจะรับน้องเรียนเข้าเรียนเป็นจำนวน 50 คน

  1. คะแนน SAT (Math Section) ต้องเกิน 490 หรือ ถ้าน้องใช้ CU-AAT (Math Section) ต้องเกิน 450 คะแนน
  2. คะแนน SAT (Verbal Section) ต้องเกิน 450 หรือ ถ้าน้องใช้ CU-AAT (Verbal Section) ต้องเกิน 400 คะแนน หรือ ถ้า SAT หรือ CU-AAT  (Verbal Section)  ไม่ใช่ทางของน้อง น้องก็สามารถสอบ IELTS มายื่นแทนได้ โดยน้องต้องได้คะแนนเกิน 6.0 ขึ้นไป
    ** ในทีนี้น้องไม่จำเป็นต้องใช้คะแนน SAT หรือ CU-AAT จากการสอบรอบเดียวกันมายื่น ยิ่งไปกว่านั้น COMMDE จะไม่นำเอาคะแนน ทั้งในส่วน Math และ Verbal มานับเป็นเปอร์เซ็นต์ในการสอบเข้า แต่เพียงจะดูว่าน้องสอบผ่านเกณฑ์ที่คณะกำหนดไว้หรือไม่ แปลว่า แม้ว่าน้องจะได้คะแนน SAT Math section มา 800 เต็ม กับน้องอีกคนที่ได้ เพียงแค่ 500 คะแนน สำหรับ COMMDE น้องที่ได้ 800 ก็ไม่ได้มีสิทธิ์ในการติดมากกว่า เพราะคณะสนใจเพียงแค่ขอให้น้องสอบผ่านเกณฑ์มาก็พอแล้ว
  3. File Portfolio 12 แผ่น ทางคณะจะให้น้องส่ง Portfolio ในรูปแบบของ file PDF ที่สามารถมีได้เพียง 12 หน้า โดยแต่ละหน้าหมายถึงผลงาน 1 ชิ้น
  4. Personal Statement ซึ่งเป็นเหมือนจดหมายที่น้องเขียนให้คณะว่าทำไมน้องถึงอยากเขียนเรียนที่นี่ และถ้าจะให้ดีก็สมควรจะเขียนอธิบายว่าทำไมคณะถึงสมควรรับน้องเข้าเรียนด้วยเช่นกัน
  5. Recommendation Letter จากอาจารย์ที่โรงเรียน

เนื่องจาก COMMDE แทบจะไม่สนใจคะแนนวิชาการอย่างเลขหรืออังกฤษ เพราะฉะนั้นคะแนนในส่วนของ Portfolio, Personal Statement และ Recommendation Letter จึงมีส่วนช่วยในการสอบติด COMMDE เป็นอย่างมาก โดยคณะจะอนุญาติให้น้องทุกคนที่ยื่นเอกสารทุกอย่างได้ถูกต้อง มีสิทธิ์เข้าสอบ Skill Test ซึ่งเป็นข้อสอบวาดภาพที่ถูกจัดสอบโดย COMMDE เอง และ เข้าสอบสัมภาษณ์ ซึ่งถือเป็นที่สุดแห่งที่สุดสำหรับการสอบของคณะนี้ น้องจะต้องเข้าไปอธิบายว่าตัวเองวาดอะไรมาบน Skill Test แต่ละงานนั้นสื่ออะไร Portfolio ที่ตัวเองทำมาทำไมถึงทำออกมาเช่นนั้น ทำไมถึงอยากเข้าคณะนี้ และทำไมถึงไม่อยากไปเรียนคณะนี้ และตนเองเหมาะกับคณะนี้จริงหรือไม่

 

** INDA กับ COMMDE ต่างกันยังไง ?

แม้ว่า INDA และ COMMDE จะสังกัดอยู่ภายใต้คณะสถาปัตย์เหมือนกัน แต่จริงๆแล้วทั้งสองคณะนี้ สอนสิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง พูดง่ายๆคือ INDA จะสอนให้น้องเป็นสถาปัตย์ ที่ออกแบบตึก ออกแบบบ้าน แต่ COMMDE ไม่ได้สอนการออกแบบอาคารเลย แต่จะสอนการออกแบบสื่อแทน

ดังนั้นหากน้องจบ COMMDE มาน้องจะไม่สามารถมาออกแบบตึกหรืออาคารได้เหมือนน้องที่เรียน INDA ในขณะที่หากน้องจบจาก INDA มาน้องอาจจะสามารถมาทำงานการออกแบบสื่อกราฟฟิก หรืองานโฆษณาได้เหมือนที่น้องที่เรียน COMMDE มา เพียงแต่น้อง INDA จะไม่ได้เข้าใจงานในเชิงลึก หรืออารมณ์ของงานที่จะสื่อกับผู้ชมได้อย่างที่น้อง COMMDE เข้าใจ

KMUTT มีคณะสถาปัตย์ภาคอินเตอร์ที่เก่าแก่และมีคุณภาพมากอยู่ที่หนึ่ง มักจะรู้จักกันในนาม “SoA+D” โดยคณะจะแบ่งออกเป็น 5 ภาคให้น้องได้เลือก

  1. Architecture
  2. Interior Architecture
  3. Industrial Architecture
  4. Communication Design
  5. Landscape Architecture

 

ซึ่งมหาลัยจะให้น้องต้องเลือกภาคตั้งแต่วันที่สมัคร แต่อย่างไรก็ตามในปี 1 นั้นทุกภาคจะได้เรียนวิชาพื้นฐานด้วยกัน (ยกเว้นแต่ Industrial Design) ดังนั้นหากน้องต้องการจะย้ายภาคหลังเรียนไปแล้วก็สามารถทำได้ในปี 2

Requirement

หลังจากที่น้องเลือกภาคที่ต้องการจะเข้าได้แล้ว น้องก็จะต้องยื่นผลการเรียนที่โรงเรียนของน้องให้ทางมหาลัย และน้องจะต้องยื่นคะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ, Portfolio, Personal Statement และ Recommendation Letters แล้วจึงจะมีสิทธิ์เข้าไปสอบ Skill Test ซึ่งเป็นข้อสอบวาดภาพของทางคณะเอง พร้อมกับสอบสัมภาษณ์ (ซึ่งแต่ในบางภาคก็อาจจะมี requirement ที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้อีก)

  1. คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ น้องสามารถยื่นคะแนน TOEFL (ibt) ต้องมากกว่า 61 คะแนน หรือ IELTS ที่มากกว่า 5.0 หรือ CU-TEP ที่มากกว่า 61 คะแนน หรือ RMIT มากกว่า 5
  • แต่หากน้องได้คะแนนที่ต่ำกว่านี้ น้องๆก็ยังจะมีสิทธิ์ยื่นคะแนนเพื่อรับการพิจารณาเข้าเรียนได้ เพียงแต่ถ้าน้องสอบติด น้องจำเป็นจะต้องลงเรียนวิชาภาษาอังกฤษในช่วงก่อนเพิ่มเติมที่จัดโดยมหาลัยเพิ่ม
  1. Portfolio ทางคณะแนะนำให้น้องยื่นพอร์ตในลักษณะของรูปเล่มที่มีขนาดประมาณ A4-A3 โดยนอกจากจะต้องแสดงถึงความสามารถในทักษะทางศิลปะของน้องแล้ว ยังสมควรจะมีผลงานและกิจกรรมที่น้องทำในช่วงมัธยมปลายโชว์อยู่ในพอร์ตอีกด้วย
  2. Personal Statement ทางคณะต้องการให้น้องอธิบายว่าทำไมถึงอยากเข้า SoA+D และน้องคิดว่าคณะจะสอนอะไรให้น้องในช่วงเวลา 5 ปีที่น้องเรียน รวมไปจนถึงในอนาคตหลังจากจบไปแล้วน้องจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบอาชีพอะไร มีแผนในอนาคตอย่างไร
  3. Recommendation Letters 2 ฉบับจากอาจารย์ที่โรงเรียน

ข้อสอบวาดภาพ CU-TAD / Skill test

และสำหรับน้องๆ ที่ต้องการติวสถาปัตย์ เพื่อสอบเข้าคณะสถาปัตย์ หลักสูตรนานาชาติ ของจุฬาฯ (INDA) นั้น น้องจำเป็นจะต้องสอบข้อสอบที่เรียกว่า CU-TAD ซึ่งเป็นข้อสอบที่ทดสอบความสามารถในเชิงตรรกะการมองภาพ, การ sketch ภาพ, การออกแบบโลโก้, ออกแบบผลิตภัณฑ์ และการวาดภาพ Perspective ซึ่งน้องต้องทำทั้งหมดนี้ให้ทันภายในเวลาอันจำกัด และน้องต้องได้คะแนนเกินกว่า 50 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) เพื่อให้มีสิทธิ์ในการยื่นคะแนนเพื่อรับการพิจารณาในการเข้าเรียน

หากน้องสนใจจะเข้า คณะสถาปัตย์ การออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ ของจุฬาฯ (CommDE) น้องก็จำเป็นจะต้องสอบข้อสอบวาดภาพที่ถูกจัดขึ้นโดยคณะเรียกว่า Skill Test  หรือ ถ้าน้องสนใจจะเข้า คณะสถาปัตย์หลักสูตรนานาชาติ ของมหาลัยอื่น อย่างเช่น SoA+D ทางมหาลัยก็มักจะมีข้อสอบวาดภาพของตัวเองจัดสอบด้วยเช่นกัน
อ่านต่อ ...

Portfolio สถาปัตย์

Portfolio เป็นหนึ่งในส่วนที่อาจจะยากที่สุดในการสอบเข้าคณะสถาปัตย์ แต่พอร์ตก็จะเป็นส่วนที่ทำให้น้องได้รู้จักตัวเองได้ดีที่สุดเช่นกัน ซึ่งในแต่ละคณะของแต่ละมหาลัยก็จะเกณฑ์ในการรับ Portfolio ที่แตกต่างกัน (สามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดได้ภายใต้หัวข้อ คณะสถาปัตย์อินเตอร์ในไทยมีที่ไหนบ้าง และ เกณฑ์ในการสอบเข้าเป็นอย่างไร ?)

จริงๆแล้ว  Portfolio ก็คือ หนังสือ หรือ ไฟล์ ที่น้องๆทำขึ้น เพื่อโชว์เรื่องที่ตัวเองสนใจเป็นพิเศษให้ออกมาเป็นภาพ หรือ ชิ้นงาน ที่สามารถสื่อกับผู้ที่ได้เห็นได้ โดย Portfolio ที่ดีก็สมควรจะมี theme หลักครอบไว้ ส่วนผลงานข้างในนอกจากสมควรจะโชว์ทักษะในด้านต่างๆของน้องๆ เช่น งานวาด, งาน paint, งานคอม, ภาพถ่าย, แกะสลัก หรือ ประกอบโมเดล แล้วสิ่งที่สำคัญ คือ ผลงานนั้นต้องเกิดจากการทำการค้นคว้าข้อมูลมาอย่างมาก และงานแต่ละชิ้นสมควรจะโชว์วิธีการคิดว่าน้องทำคิดอย่างไร มีวิธีการลงมือทำอย่างไร และความหมายของงานนั้นหมายความว่าอะไร

ตัวอย่างเช่น น้องอาจจะทำพอร์ตโดยมี theme หลักเป็นเรื่อง การแพร่ระบาดของ COVID-19 และหนึ่งในผลงานในพอร์ตของน้องก็อาจจะเป็น “อุปกรณ์การแพทย์ชิ้นใหม่ที่เหมาะกับการป้องกันโรค” ซึ่งผลงานชิ้นนี้จะเป็นผลงานที่ได้โชว์ทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ของน้องให้มหาลัยได้เห็น โดยน้องจะต้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการใช้งาน หรือ function ของอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นอย่างไร มีความแตกต่างจากอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันอย่างไร และอุปกรณ์ใหม่ชิ้นนี้นั้นดีกว่ายังไง ซึ่งหากน้องใช้วิธีการ sketch เป็นภาพอุปกรณ์ขึ้นมา งาน sketch design ชิ้นนี้ก็จำเป็นจะต้องอธิบายตัวเองได้อย่างชัดเจน คือ คนที่ดูผลงานต้องสามารถเข้าใจได้ตั้งแต่เห็นรูปว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้จะใช้งานอย่างไร ดีกว่าของเก่ายังไง โดยใช้คำอธิบายที่น้อยที่สุดและให้ภาพเป็นตัวเล่ารายละเอียดทั้งหมด

ในขณะที่ชิ้นที่สองน้องอาจจะทำ “โมเดลบ้านที่เหมาะแก่การกักตัวเพื่อ quarantine” โดยชิ้นนี้นอกจากจะได้โชว์ทักษะการ sketch น้องยังจะได้ลองใช้วัสดุหลายๆอย่างเพื่อทำการขึ้นโมเดล ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการใช้ชีวิตในบ้านของคนก่อนที่จะเกิดการระบาด และการแบ่งแยกโซนเพื่อเป็นการกักตัวหลังจากระบาดของโรค น้องจะได้เรียนรู้และสังเกตการใช้ชีวิตของคนในบ้านในปัจจุบัน และต้องทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ในพื้นที่อันจำกัด และเช่นเดียวกันกับงานออกแบบอุปกรณ์ คือ คนที่ดูผลงานต้องเข้าใจได้ทันทีที่เห็นโมเดลว่าบ้านหลังนี้จะทำงานอย่างไร โดยใช้คำอธิบายที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สิ่งที่น้องอาจจะมองไม่เห็นจากผลงานเหล่านี้ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด คือ น้องจะต้องมีความสนใจ ทำการค้นคว้า และต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง COVID-19 เป็นอย่างมาก มากจนสามารถจะรู้ว่าปัจจุบันทางการแพทย์ใช้อุปกรณ์อะไรในการป้องกันโรคบ้าง และอุปกรณ์ชนิดนั้นสามารถช่วยกันโรคได้อย่างไร และโรคนี้มีวิธีการแพร่ระบาดอย่างไร เพื่อจะทำให้น้องสามารถออกแบบอุปกรณ์ที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาได้ รวมไปจนถึงสามารถออกแบบบ้านที่เหมาะแก่การกักตัวได้เป็นอย่างดี

จากการยกตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าในการที่จะทำ Portfolio ที่ดีออกมาได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากน้องจะต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำอย่างดีแล้ว น้องยังต้องคิดงานที่โชว์ทักษะที่ต่างกันออกมาให้ได้ถึง 10-12 ชิ้น และอย่างในบางชิ้นน้องอาจจะอยากใช้ทักษะที่ตัวเองยังไม่เคยได้เรียนมาก่อน เช่น การใช้โปรแกรม Photoshop, AI หรือ Rhino ยิ่งไปกว่านั้นแล้วงาน Portfolio ยังเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ความอดทน และความต่อเนื่อง ดังนั้นการที่น้องจะได้มีพี่ๆอยู่รอบๆ คอยเป็นที่ปรึกษา คอยผลักดันให้น้องไปต่อกับสิ่งที่กำลังทำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

เราสอนอะไรในคอร์สทำพอร์ต ?

จากประสบการณ์การสอนเกือบ 10 ปีของ Weekend Studio ทำให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนน้องทำ Portfolio โดยเราจะเริ่มตั้งแต่การคิดหา theme พอร์ตกับน้องๆ ซึ่ง theme ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากน้องเลือก theme ที่ง่ายเกินไป ใันก็อาจจะทำให้งานที่น้องจะทำต่อไม่สามารถแสดงความลึกระดับความคิดและผลงานออกมาได้ดีพอ หลังจากนั้นเราจะช่วยน้องวางแผนผลงานทั้งหมดที่จะทำในพอร์ตก่อนล่วงหน้าแบบคร่าวๆ โดยจะมีการวางแนวทางว่าผลงานทั้งหมดนี้ สมควรจะกระจายการใช้ทักษะแบบใดในการทำผลงานชิ้นใดบ้าง และเนื่องจากงาน Portfolio เป็นงานเฉพาะสำหรับน้องแต่ละคน ดังนั้นสิ่งที่น้องๆแต่ละคนต้องการจะเรียนรู้จึงไม่เหมือนกัน แต่ด้วยรูปการสอนแบบตัวต่อตัวของเรา ทำให้เราสามารถดูแลน้องทุกคนได้อย่างละเอียด ในทุกๆขั้นตอนของการทำ ไม่ว่าน้องจะเลือกทำงานแบบใด ด้วยทักษะแบบใด อะไรก็ตามที่น้องทำไม่ได้ เราก็สอนน้องได้หมดตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน และเรายังมีการนำพอร์ตของน้องแต่ละคนมาประชุมปรึกษากันเองระหว่างพี่ๆอยู่เสมอๆ เพื่อดูว่าแนวทางของพอร์ตน้องเป็นอย่างไร ไปถึงไหนแล้ว ได้ดึงทักษะในทุกๆด้านของน้องออกมาหรือยัง และไอเดียของผลงานนั้นลึกพอหรือไม่ เพื่อให้น้องแต่ละคนได้มีผลงานที่ดีที่สุดไปยื่นตามคณะและมหาลัยที่น้องต้องการ

การเขียน Personal Statement

หลังจากที่น้องผ่านทั้งในส่วนของการสอบ SAT / CU-AAT / IELTS และ ส่ง Portfolio ให้ทางมหาลัยแล้ว การเขียน Personal Statement ก็จะเป็นคะแนนอีกส่วนหนึ่งของน้อง ซึ่ง Personal Statement นี้จะเป็นเหมือนจดหมายที่น้องแนะนำตัวเองให้กับมหาลัยได้รู้จัก ว่าน้องเป็นใคร เคยทำอะไรมา ทำไมน้องถึงสนใจเข้าเรียน แล้วน้องมีดีอย่างไร ทำไมมหาลัยถึงสมควรจะตอบรับน้อง เราจึงถือว่ามันเป็นจดหมายที่สำคัญฉบับนึง Personal Statement ที่ดีนั้นต้องระบุลงไปให้ได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า เมื่อไหร่น้องถึงเริ่มสนใจ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เราสนใจ และมันต้องเป็นสิ่งที่ทำให้น้องโดดเด่นกว่าเพื่อนๆคนอื่น
อ่านต่อ ...

ติวสอบสัมภาษณ์

ขั้นตอนสุดท้ายในการสอบเข้า ก็คือการติวสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งนี้จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทำให้ทางมหาลัยรู้ว่า งานที่น้องทำมาเป็นงานของน้องจริงหรือไม่ Personal Statement ที่น้องเขียนมาน้องได้เองมาเองหรือเปล่า และน้องมีความเข้าใจใน Portfolio ที่ตัวเองส่งมาขนาดไหน ยิ่งไปกว่านั้นน้องยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคณะ และความสนใจในการเข้าเรียนคณะนั้นๆจริงไหม
อ่านต่อ ...

การสมัครเรียน /
รอบที่เปิดสอน

คอร์สกลุ่ม

  • สามารถสมัครได้ตลอดทั้งปี เพราะทางโรงเรียนสอนน้องทุกคนแบบตัวต่อตัว
  • คอร์สเรียนเป็นรูปแบบบุปเฟต์ ไม่จำเป็นต้องจองเวลาเรียนล่วงหน้า
    • ราคา คอร์สแบบออนไลน์
      เริ่มต้นที่ 6,900 บาท / 2 เดือน
    • ราคา คอร์สแบบเข้าสตูดิโอ
      เริ่มต้นที่ 10,500 บาท / 2 เดือน
  • สามารถเรียนได้ ทุกวันเสาร์ และ อาทิตย์ ตั้งแต่ 10.00-17.00

คอร์ส Private

  • เหมาะสำหรับน้องที่ต้องการเลือกเวลาเรียนด้วยตนเอง และ ต้องการความเป็นส่วนตัว
  • สามารถมาเรียนที่สตูดิโอได้ หรือ จะไปเรียนนอกสถานที่ก็ได้
  • ราคาเริ่มต้นที่ 14,000 บาท / 20 ชั่วโมง

Contact Us

         

ชั้น 18 ตึกศูนย์หนังสือจุฬา สยามสแควร์